ประเพณีชักพระ ประเพณีลากพระ หรือ ประเพณีแห่พระ
เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาซึ่งพบมากในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นประเพณีที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่รอบเมืองในวันหลังวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เชื่อกันว่าเป็นการจำลองเหตุการณ์ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา
ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา ครั้นเมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ
แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบน บุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง ซึ่งการแห่เรือพระจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ เรือพระบก
สำหรับแห่ทางบก และเรือพระน้ำ สำหรับแห่ทางน้ำ
ประวัติความเป็นมา
สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งประเพณีชักพระเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนาน ว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพ สถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา พระพุทธองค์ทรงประกาศพระคุณของมารดาแก่เทวสมาคมและแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา 7 คัมภีร์ จนพระมหามายาเทพและเทพยดา ในเทวสมาคมบรรลุโสดาบันหมด ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย บันไดนี้ทอดจากภูเขาสิเนนุราชที่ตั้งสวรรค์ ชั้นดุสิตมายังประตูนครสังกัสสะ ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว บันไดทองนั้นสำหรับเทพยดา มาส่งเสด็จอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ บันไดเงินสำหรับพรหมมาส่งเสด็จอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ และบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์อยู่ตรงกลาง
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลานได้มารอรับเสด็จ อย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันเข้าไปถวายส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมาก ๆ จะส่งต่อ ๆ กันก็ไม่ทันใจ จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้าง ข้าไปถวายเป็น ที่โกลาหล โดยถือว่าเป็นการถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น เหตุนี้จึงเกิด ประเพณี “ห่อต้ม” “ห่อปัด” ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชน ได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้วและเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์
เรือพระ
เรือพระ คือ รถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบก ซึ่งภาษาพื้นเมืองของภาคใต้เรียกว่า “นม” หรือ “พนมพระ” ยอดบุษบก เรียกว่า “ยอดนม” ใช้สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานแล้วลากในวันออกพรรษา ลากพระทางน้ำ เรียกว่า “เรือพระน้ำ” ส่วนลากพระทางบก เรียกว่า “เรือพระบก” สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือ ให้คล้ายเรือจริง ๆ และต้องทำให้มีน้ำหนักน้อยที่สุด จึงใช้ไม้ไผ่สานมาตกแต่งส่วนที่เป็นแคมเรือและหัวท้ายเรือคงทำให้แน่นหนา ทางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือ ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ บุษบก ซึ่งแต่ละที่จะมีเทคนิคการออกแบบบุษบก มีการประดิษฐ์ประดอยอย่างมาก หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจตุรมุข ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา อย่างสวยงาม
การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนบุษบก
พระลาก คือ พระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยม คือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สำหรับพระลากของวัดเจดีย์(ไอ้ไข่) จะมีชื่อเรียกว่า “แม่ลาภ” ซึ่งเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จะมีพิธีสมโภชน์พระลากตามประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาจนถึงในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงจะอัญเชิญพระลากขึ้นบนบุษบก ที่ตั้งอยู่บนรถที่ประดับประดาอย่างสวยงามด้วยการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน ซึ่งการชักพระจะเริ่มตอนเช้าตรู่ของวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 และเริ่มชักพระเป็นวันแรก ประชาชนจะเดินทางไปวัด เพื่อนำภัตตาหารไปใส่บาตร หลังจากที่พระฉันภัตตาหารเสร็จ ชาวบ้านจะนิมนต์พระภิกษุในวัดขึ้นนั่งประจำเรือพระ แล้วชาวบ้านจะช่วยกันลากเรือพระ ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ หากเป็นทางน้ำจะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการชักพระทางบก จะใช้คนเดินลาก ซึ่งก่อนถึงช่วงเวลาเพล เรือพระที่ลาก จะมาถึงที่ชุมนุมเรือพระ ทั้งการชักพระทางบกและการชักพระทางน้ำ เพื่อให้ประชาชนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณร ที่ชุมนุมเรือพระจึงคับคั่งไปด้วยประชาชน
กำหนดการทอดกฐินสามัคคีประจำปี 2567 ของวัดเจดีย์(ไอ้ไข่)
ในปี 2567 พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ ( อภิชิต พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ได้กำหนดให้วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ตรงกับ วันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง เป็นวันทอดกฐินของวัดเจดีย์(ไอ้ไข่)