ประวัติ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ (เที่ยง หักเหล็ก)
ทวดเที่ยง หรือ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ฉายา เที่ยง หักเหล็ก ท่านคือจอมมนต์ คนขลัง เป็นปูชนียะบุคคล ของท้องถิ่น เป็นที่เคราพบูชาของผู้คน และศิษย์ยานุศิษย์ มีอยู่ครั้งหนึ่งทวดเที่ยงได้รับการเลือกจากนายอำเภอให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ทวดเที่ยงไม่อยากจะเป็นเลยหนีออกจากบ้านไป เพื่อให้นายอำเภอเลือกตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทน แต่นายอำเภอไม่ยอมเลยจับภรรยาของทวดเที่ยงเอาไปเป็นตัวประกัน เพื่อให้ทวดเที่ยงมาแลกตัว ทวดเที่ยงเลยยอมมาแลกตัวกับภรรยา และแล้วนายอำเภอลงโทษทวดเที่ยงขังตะรางไว้ ๓ วัน ในข้อหาหนีราชการ ผู้ใหญ่เที่ยงในขณะที่อยู่ในตะรางอากาศร้อน และถูกจำกัดเสรีภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ทวดเที่ยงไม่เคยเจอ ก็เลยฉีกเหล็กห้องขังออกมานั่งตากลม เพื่อบรรเทาความร้อน หลังจากนั้นก็กลับไปห้องขังหุบเหล็กกลับไปอยู่ในห้องขังเช่นเดิมจนครบเวลา 3 วัน และกลับบ้านแล้วมารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านจนเกษียณ
ที่มาของฉายา เที่ยงหักเหล็ก ก็ยังมีอีกหลายๆ อย่างที่ทวดเที่ยงได้ทำให้เห็นโดยตามอารมณ์ดีและอารมณ์ ขันๆ เช่นทวดเที่ยง ได้สร้างบ้านที่อยู่อาศัย จึงเดินทางไปซื้อตะปูที่ร้านกิ้มฮ้วยในตลาดสิชล พอไปถึงทวดเที่ยงซึ่งเป็นคนอารมณ์ดีได้เดินไปหยิบตะปู เจ๊กิ้มฮ้วยเลยถามว่าซื้อไปทำอะไร ทวดเที่ยงว่าจะซื้อเอาไปทำบ้านแต่ซื้อไม่ลงเพราะตะปูนิ่มนวลเหมือนฝักถั่วเด็ดก็ขาด เจ๊กิ้มฮ้วยหัวเราะและก็ได้พูดกลับไปกับทวดเที่ยง ว่าถ้าเด็ดขาดช่วยเด็ดให้ดูสักที ถ้าเด็ดขาดจริงๆ ตะปูที่ทวดซื้อไปสร้างบ้านเจ๊จะไม่เอาเงินจนจะสร้างบ้านเสร็จ ทวดยิ้มแล้วก็หัวเราะแล้วหยิบตะปูขึ้นมาเด็ดให้เจ๊กิ้มฮ้วยดู เมื่อเห็นเช่นนั้นเจ๊กิ้มฮ้วยต้องเสียตะปูให้ทวดไปอย่างยินดี เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของฉายา “เที่ยงหักเหล็ก”
ทวดเที่ยงได้บอกเล่าให้ลูกหลานและคนใกล้ชิดฟังว่า จริงๆ แล้วทวดเที่ยงเมื่อตอนเป็นเด็กรุ่นๆ ท่านเป็นคนจิตอ่อน ขี้กลัว ขี้ตกใจ ไม่สมกับเป็นผู้ชาย ครั้งสุดท้ายที่น้อยใจตัวเอง และได้อาย เพราะได้เล่นกับเพื่อนในกลุ่มเดียวกันแต่ได้เพื่อนแกล้งหลอกผี ทำให้ทวดเที่ยงตกใจและกลัวมาก จนเป็นที่อับอายแก่เพื่อนๆ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ชายด้วยกัน ทวดเที่ยงจึงได้หนีออกจากบ้านไปหลายสิบปี จนเป็นที่กล่าวขานว่าเสียชีวิตไปแล้ว ตอนหลังทวดเที่ยงได้เดินทางกลับมาบ้าน พร้อมกับมีวิชาอาคมสรรพศาสน์มากมาย และได้มาใช้ช่วยเหลือผู้คน ชาวบ้าน รวมทั้งได้ถ่ายทอดตำหรับวิชาให้แก่ลูกหลาน และศิษย์
ทวดเที่ยงมีฝีมือในด้านศิลปะในการแกะสลักไม้ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดฝีมือของชุมชนในขณะนั้น ท่านได้แกะสลักรูป ฤๅษี (พ่อแก่) ให้ลูกๆ หลานๆ และลูกศิษย์ไว้เคราพบูชา ซึ่งรูปไม้แกะสลักเหล่านั้นเป็นที่รักและหวงแหนของลูกหลานและศิษย์กันมาก นอกจากนี้ทวดเที่ยงยังได้แกะสลักรูปเคารพเป็นรูปร่างเด็กชาย ด้วยไม้ทองหลางไว้ให้ชาวบ้านได้กราบบูชา และแก้บน แต่เนื่องจากไม้ทองหลางเป็นไม้เนื้ออ่อน รูปเคารพเด็กวัดจึงผุพังไปตามกาลเวลา และเนื่องจากด้วยความชราภาพทวดเที่ยง ก็เว้นจากการแกะไม้รูปใหม่ขึ้นมาทกแทนรูปเก่าที่ชำรุดไป
จนอยู่มาคืนหนึ่ง ทวดเที่ยง หรือผู้ใหญ่เที่ยง ได้ฝันไปว่ามีเด็กแก้ผ้ามาบอกในความฝัน “ช่วยแกะไม้ใหม่ให้เราหน่อย” ในความฝัน ผู้ใหญ่เที่ยง ได้ถามไปว่า “นั่นใครละที่มาบอกให้ช่วยแกะไม้ให้” เด็กแก้ผ้าตอบมาว่า “ เราคือไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” ผู้ใหญ่เที่ยง จึงไปนำไม้ตะเคียนคู่ (ตะเคียนขาเกียบ) บริเวณวัดพระโอน (วัดร้างใกล้บ้าน) มาแกะขึ้นรูปเป็นรูปเด็กแก้ผ้า มือขวากำหมัดยกขึ้นวางตรงหน้าอก มือซ้ายถึงมือแนบลำตัว เสร็จแล้วก็นำใส่รถเข็น นำมาไว้ที่วัดเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ (เริ่มแกะ ตอนปลาย พ.ศ. ๒๕๒๔) และได้ปรึกษา พ่อท่านเทิ่ม (เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ในสมัยนั้น) ว่าน่าจะตั้งชื่อให้ เด็กวัด ได้มีชื่อมีนามเรียกกัน พ่อท่านเทิ่ม จึงถามว่า จะให้ชื่ออะไรดี ผู้ใหญ่เที่ยง จึงบอกไปว่าให้เรียก ไอ้ไข่ จากนั้นเป็นต้นมา เด็กวัด ก็เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” ตราบจนปัจจุบันนี้ และได้ประกอบพิธีเรียกรูปเรียกนาม เรียกดวงจิตวิญญาณมาสถิตย์ โดย ผู้ใหญ่เที่ยง ในคราวเดียวกับ การปลุกเสกเหรียญ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” (รุ่นแรก) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖