ประเพณีให้ทานไฟ

ช่วยแชร์ด้วยนะครับ

ประเพณีให้ทานไฟ คือ ประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการถวายความอบอุ่นให้พระภิกษุสามเณร ในช่วงเดือนอ้าย เดือนยี่ (อากาศจะหนาวในช่วงนี้) ด้วยการก่อกองไฟให้ความอบอุ่น และจัดทำอาหาร และขนมที่ร้อนๆ เช่น ขนมครก ขนมโค ขนมเบื้อง ขนมจาก ขนมข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น ถวายแด่พระภิกษุสามเณร เพื่อสร้างความอบอุ่นในตอนเช้ามืดของคืน ที่มีอากาศหนาวเย็น โดยใช้ลานวัดเป็นที่ก่อไฟแล้วทำขนมถวายพระ

ประเพณีให้ทานไฟ ถือเป็นประเพณีท้องถิ่น ที่บรรพชนชาวนครศรีธรรมราช ได้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อเป็นการถวายทาน และทำนุบำรุงบวรพุทธศาสนา อีกทั้งยังช่วยสร้างความรัก ความสามัคคี ให้คนภายในชุมชน ที่ลูกหลานรุ่นหลัง ยังคงยึดถือสืบสาน สืบทอด มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยในพื้นที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ถือว่าเป็นวัดแรกๆ ที่นำประเพณีมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทุกปี

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของประเพณีการให้ทานไฟนี้ สันนิษฐานว่า มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีความเห็นเป็น ๒ นัย ดังนี้
นัยที่ ๑ เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “โกสิยะ” มีทรัพย์สิน ๘๐ โกฏิ แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่ให้ทาน ไม่บริจาค ไม่อำนวยประโยชน์แก่ผู้ใดเลย แม้แต่ภรรยาและบุตรของตน ต่อมา เศรษฐีต้องการกินขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) จึงให้ภรรยาไปแอบทำขนมบนปราสาท เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะรู้เห็นแล้วจะมาขอแบ่งขนมกินด้วย ความนี้ ได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า เพื่อจะโปรดเศรษฐีให้มีใจน้อมไปในการบริจาคทานจึงได้มอบหมายพระโมคคัลลานเถระ อัครสาวกเบื้องซ้ายไปโปรดโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่คนนี้ เมื่อพระเถระรับพุทธบัญชาแล้วก็ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ทรมานเศรษฐีด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเศรษฐีคลายความพยศ ได้ถวายขนมเบื้องแก่พระเถระ เพราะกลัวไฟจะไหม้ปราสาทของตนด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระเถระ เมื่อเศรษฐีถวายขนมเบื้องแล้ว พระเถระได้แสดงพระธรรมโดยพรรณนาคุณพระรัตนตรัย และแสดงอานิสงส์การให้ทาน จนเศรษฐีมีจิตเลื่อมใส ได้นำขนมเบื้องและวัตถุทานอื่น ๆ มาถวายแก่พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ด้วยพุทธานุภาพขนมเบื้องที่เศรษฐีนำมาถวายพระ มีเหลือมากมาย แม้จะแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน คนยากจนขอทาน ขนมก็ยังล้นเหลือ จนถึงกับนำไปเททิ้ง ที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวัน ปัจจุบันสถานที่เทขนมเบื้องทั้งนั้น เรียกว่า เงื้อมขนมเบื้อง กาลต่อมา โกสิยเศรษฐี กลายเป็นเศรษฐีใจบุญชอบให้ทาน และ ได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยมูลเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ประเพณีการให้ทานไฟในปัจจุบัน


ช่วยแชร์ด้วยนะครับ